ข้อ 28 การประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน การประชุมเช่นนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 29 กำหนดการประชุมใหญ่
- ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชีของสมาคมเป็นประจำทุก ๆ ปี
- ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นสมควร หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนง โดยทำการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการ หรือ กรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ ให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ลงมติหรือวันที่ได้รับหนังสือ
ข้อ 30 การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวันเวลาสถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบโดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ฯ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน หรือส่งให้ถึงตัวสมาชิกก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน การจัดส่งหนังสือบอกกล่าวตามวรรคแรก ให้ส่งสำเนาบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ครั้งแล้ว (ถ้ามี) ไปด้วย ในกรณีที่เป็นการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแนบสมาชิกสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุล รวมทั้สำเนาบัญชีรายรับ – รายจ่าย ซึ่งผู้ตรวจสอบได้ตรวจสอบแล้วเพิ่มเติมไปด้วย
ข้อ 31 องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ ในการประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม
ข้อ 32 กรณีการประชุมในครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้วหนึ่งชั่วโมง ยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอให้เลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมและให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุมวัน เวลาและสถานที่ประชุมใหญ่นี้อีกครั้งหนึ่งภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวนี้จะมีสมาชิกมากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 33 ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกผู้มีอาวุโสตามลำดับทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลยก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น
ข้อ 34 วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญคนหนึ่ง ๆ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง
ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ หรือวิธีการอื่นใดอันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิกสามัญสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ
ข้อ 35 มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 36 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ มีดังนี้ .-
- รับรองรายการงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
- พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี (ถ้ามี)
- พิจารณาอนุมัติงบดุล (ถ้ามี)
- เลือกตั้งคณะกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
- เลือกตั้งที่ปรึกษาของสมาคมประจำปี ผู้สอบบัญชีของสมาคมประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน (ถ้ามี)
- กิจการที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่
ข้อ 37 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือน ได้แก่ กิจการอันเกี่ยวกับการปฏิบัติธุรกิจทั่วไปของสมาคม นอกจากกิจการที่จำเป็นจะต้องกระทำโดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 38 การจัดทำรายงานบันทึกประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ การประชุมสมาชิกอื่น ๆ และการประชุมอนุกรรมการ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้ง และต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไปรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้ว สมาชิกจะดูได้ในวันและเวลาทำการ
|