ข้อ 17 ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงาน
ให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสมาคมและเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสามัญประเภทนิติบุคคล และผู้แทนสมาชิกวิสามัญประเภทนิติบุคคล ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่มีจำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองคน และไม่เกินสี่สิบคน โดยคณะกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ต้องมาจากสมาชิกสามัญประเภทนิติบุคคล ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่
เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ จะมีมติเป็นอย่างอื่น การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับโดยให้สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ เสนอชื่อของสมาชิกสามัญและวิสามัญประเภทนิติบุคคล ซึ่งตนประสงค์จะเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกว่าสองคน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรกและตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนึ่งคน อุปนายกสี่คน เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม ประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งละหนึ่งคน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ได้กำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร
คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละสามปี และให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทนภายใน 180 วัน การนับวาระกรรมการให้นับแต่วันที่ประชุมใหญ่มีมติเลือกตั้ง
ภายใต้บังคับของมาตรา 19 และ 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว อาจได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกก็ได้
สมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเกินกว่าสองคราวติดต่อกันมิได้
ข้อที่ 18 การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้ .-
- ครบกำหนดออกตามวาระ
- ลาออกโดยคณะกรรมการได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออกเฉพาะตำแหน่งตามข้อ 17 วรรคสาม
- ขาดจากสมาชิกภาพ
- ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
- เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509
- ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509
ในกรณีที่ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นนิติบุคคลตามข้อ 10 ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ตายหรือพ้นจากตำแหน่งผู้แทนของสมาชิกนั้น ผู้แทนคนใหม่ของสมาชิกรายนั้น ๆ จะเข้าเป็นกรรมการแทนก็ได้
ข้อ 19 กรณที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ คณะกรรมการอาจตั้งสมาชิกสามัญหรือวิสามัญคนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้เป็นกรรมการอยู่ได้ตามวาระของผู้ที่ตนแทน ในกรณีนี้ให้นำความในข้อ 17 มาบังคับใช้ จำนวนกรรมการที่มาจากสมาชิกสามัญและวิสามัญ กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทน ภายใน 180 วัน ในกรณีนี้ให้นำความในข้อ 24 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งตามวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งได้ตามวาระของคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไป
ข้อ 20 องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ การประชุมของคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการน้อยกว่าครี่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะตั้งสมาชิกสามัญหรือวิสามัญคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่ หรือกระทำกิจการอันสมควรทุกอย่างเพื่อปกป้องรักษาประโยชน์ของสมาคม เท่านั้น
ข้อ 21 มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ในกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหรือข้อบังคับนี้ให้ถือว่ามตินั้นใช้บังคับมิได้
ข้อ 22 ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกผู้อาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสามคนและอุปนายกไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น
ข้อ 23 การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง อนึ่ง ในกรณีจำเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคนจะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้
ข้อ 24 การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียน
ในกรณีที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการคณะกรรมการชุดใหม่และคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไปจนกว่านายทะเบียนสมาคมการค้าฯ จะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว การรับมอบหน้าที่ให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร
ข้อ 25 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ มีดังนี้ .-
- จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม
- เลือกตั้งคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการ
- วางระเบียบการในการปฎิบัติงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์
- ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่และ พนักงานทั้งปวง ในการทำกิจการเฉพาะอย่าง หรือ พิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ของสมาคม เพื่อให้การดำเนินการงานของสมาคมเป็นไป โดยเรียบร้อย ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและอนุกรรมการดังกล่าว จะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมหรือบุคคลภายนอกก็ได้
ข้อ 26 อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้ .-
- นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคม เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ดำเนินกิจการของสมาคมอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
- อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
- เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม เป็นเลขานุการในประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
- เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงินเก็บรักษาและจ่ายพัสดุของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
- นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
- ปฏิคม มีหน้าที่รักษาสำนักงานของสมาคม รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษา สมุดเยี่ยม จัดสถานที่ประชุม ดูแลต้อนรับ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
- ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชิญชวนสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่าง ๆ ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
ข้อ 27 ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่มาใช้บังคับอนุโลม |